ธุรกิจร้านกาแฟ
กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นและ รสเป็นเอกลักษณ์
และเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกจำนวนมากมาช้านาน ถึงแม้ว่า
กาแฟจะไม่ได้เป็นเครื่องดื่มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
แต่กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มที่คนไทยรู้จักและบริโภคมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 150 ปีแล้ว โดยในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟหลายพันธุ์
มีการพัฒนาวิธีการนำกาแฟมาผลิตเป็นเครื่องดื่มในลักษณะต่างๆ
และมีรสนิยมการบริโภคกาแฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โอเลี้ยง กาแฟเย็น
หรือกาแฟโบราณที่ใช้ถุงกาแฟชง
ซึ่งแตกต่างไปจากรสนิยมของต่างชาติที่นิยมบริโภคกาแฟกันอย่างแพร่หลาย อย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป
เป็นต้น
ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟเป็นธุรกิจ
ที่มีอัตราการขยายตัวสูง ผู้ประกอบการขนาดย่อมมีการปรับปรุงธุรกิจของตนเอง
รวมทั้งมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้กาแฟจะเป็นเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายและเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาเป็น เวลานาน
แต่ลักษณะความนิยมและพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทย
จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากชาวต่างประเทศ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์กาแฟในปี 2548 เท่ากับ 21,000 ล้านบาท
ซึ่งเป็นปริมาณที่เติบโตมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ นับจากปี 2545
และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10 โดยแยกเป็นกาแฟผงสำเร็จรูป
9,300 ล้านบาท กาแฟกระป๋อง 7,000 ล้านบาท
และร้านกาแฟพรีเมี่ยม 4,700 ล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาเฉพาะร้านกาแฟพรีเมี่ยม
จะเห็นได้ว่า ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 500 ล้านบาทต่อปี เริ่มจาก 3,000
ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านบาทในปี 2546 ขยับเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2547 ที่ผ่านมา
และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 ล้านบาทภายในปี 2548
เนื่องมาจากปริมาณร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และผู้บริโภคหันมาดื่มกาแฟคั่วบดแทนกาแฟผงสำเร็จรูปมากขึ้น
ความนิยมในร้านกาแฟพรีเมี่ยมส่งผลให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะในด้านช่องทางการจำหน่าย
ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการในพื้นที่ร้านค้าสมัยใหม่หรือ Modern Trade
ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์ทสโตร์
ทำให้เกิดการแย่งพื้นที่ทำเลดี ทำให้ต้นทุนในการขยายสาขาแต่ละแห่งเพิ่มสูงขึ้น
ทางผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์โดยการเน้นความหลากหลายและสร้างความแตกต่าง
โดยขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยทำเลนอกร้านค้าสมัยใหม่ที่น่าสนใจ
คือ ปั๊มน้ำมัน โรงภาพยนตร์ รถไฟฟ้า ศูนย์แสดงสินค้า ร้านหนังสือ โรงพยาบาล
สถานออกกำลังกาย สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม
ร้านกาแฟในปั้มน้ำมันนั้น
ถือเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและรายได้ที่น่าสนใจมากธุรกิจหนึ่ง เพราะตลาดรวมยังขยายตัวได้อีกมาก
ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละวันไม่สูงนัก
เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก
โดยร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันจะมีรายได้อยู่ประมาณวันละ 3,000-6,000 บาท
หรือมีกำไรประมาณวันละ 1,000 บาท ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันถือเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(SMEs) ที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟอยู่ในช่วงขยายตัว และมีฐานลูกค้ารองรับอีกมาก
ขณะที่จำนวนร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ถึงแม้ปัจจุบันมีอยู่หลายร้อยร้าน
แต่ก็ยังไม่ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงมากนัก
การที่ ธุรกิจร้านกาแฟ จากต่างชาติยังทยอยกันเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในเมืองไทย
แสดงว่า ตลาดของธุรกิจกาแฟนี้ยังมีอนาคต และได้รับการประเมินว่ายังขยายตัวต่อไปได้
ขณะเดียวกัน
ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยจากการรุกรานของธุรกิจข้ามชาติที่กดดันให้ร้านกาแฟของ นักลงทุนไทยต้องปรับตัว
ทั้งรสชาติและบริการ
เพื่อเผชิญการบุกตลาดของเครือข่ายร้านกาแฟชื่อดังจากต่างประเทศ
นอกจากการปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันของบรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมที่เป็นเครือข่าย
สาขาจากต่างประเทศแล้ว บรรดาร้านกาแฟพรีเมี่ยมของไทยยังหันไปขยายสาขาในต่างประเทศ
โดยปัจจุบันมีร้านกาแฟพรีเมี่ยมไทยใน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย
และอินโดนีเซีย
ธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมยังคงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน
เนื่องจากการที่โอกาสทางธุรกิจยังเปิดกว้าง
จากการที่ปริมาณการบริโภคกาแฟของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูป
ซึ่งธุรกิจร้านกาแฟ พรีเมี่ยมนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทย
นอกจากนี้
ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟพรีเมี่ยมกำลังกลายเป็นร้านที่อยู่ในกระแสความนิยม
โดยมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ
ที่ประกาศขยายธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2543 ทั้งในการขยายร้านกาแฟพรีเมี่ยมในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม
นักลงทุนรายย่อยก็ต้องเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างระมัดระวัง
เนื่องจากมีความเสียงสูงกว่านักลงทุนรายใหญ่ที่มีทั้งกำลังเงินและความรู้
ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งเทคนิคการพลิกแพลงตลาด เพื่อขยายฐานการบริโภค
ทำให้มีโอกาสในการประสบความสำเร็จในธุรกิจมากกว่า
ทั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟทุกประเภทยังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ
และสามารถเติบโตได้อีกมาก
เนื่องจากอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ
บริโภคน้อยกว่าร้อยละ 0.5 กิโลกรัม/คน/ปี หรือคิดเป็นเพียง 130-150 ถ้วย/คน/ปี เท่านั้น (หรือเฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งแก้ว/คน/วัน)
เพราะปริมาณคนไทยที่บริโภคกาแฟเป็นประจำมีเพียงร้อยละ 30 (หรือไม่ถึง
2 ล้านคน) จากประชากรคนไทยทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน ซึ่งยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียอย่างเช่น
ญี่ปุ่น ดื่มกาแฟเฉลี่ย 500 แก้ว/คน/ปี
หรืออเมริกาที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 700 แก้ว/คน/ปี (หรือเฉลี่ย 2
แก้ว/คน/วัน) ดังนั้น ธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
แต่คาดหมายว่าการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น
ผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟนี้ จะต้องปรับกลยุทธ์ทั้งรุกและรับ
ให้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะร้านกาแฟพรีเมี่ยม
ถ้าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟ คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะทะลุระดับ 7,000 ล้านบาท ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น